ความแตกต่างของ Motion Graphics VS Animation

ความแตกต่างของ Motion Graphics VS Animation

Motion Graphics และ Animation นั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อย เมื่อนึกถึง Animation จะเข้าใจว่าคือ Cartoon เช่นเดียวกันกับ Motion Graphics จะนึกถึง Infographic ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคำ 2 คำนี้มีเส้นแบ่งแยกหรือจุดตัดร่วมกันอยู่ที่ตรงไหน วันนี้ BEAR จะพามาทำความรู้จักกับคำ 2 คำนี้ให้มากขึ้น

  • สิ่งที่เหมือนกัน

Motion Graphics และ Animation นั้นมีกระบวนการผลิต (Process) หลักที่เหมือนกัน คือ การสร้างภาพ และองค์ประกอบต่างๆ ขึ้นมาใหม่ สร้างการเคลื่อนไหว จัดแสง ปรับสีสัน และใส่ดนตรีประกอบ รวมทั้งยังอาศัยหลักการต่างๆ ที่เหมือนกัน เช่น หลักการออกแบบ การจัดองค์ประกอบ และหลักการสร้างการเคลื่อนไหว โดย Motion Graphics และ Animation สามารถจัดเป็นสื่อรูปแบบเดียวกัน นั่นคือ สื่อภาพเคลื่อนไหว (Moving Image Media)

  • สิ่งที่แตกต่าง

Animation เมื่อพูดถึงคำนี้หลายคนจะเหมารวมว่าคือ Cartoon Animation ซึ่งความเป็นจริงถือเป็นนิยามที่แคบเกินไป โดย Animation อาจแบ่งกว้างๆ ได้ดังนี้

1. Animation ที่มี Character หรือ Cartoon Animation คือ ตัวละคร และฉากถูกสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น สร้างจากคอมพิวเตอร์ วาดภาพด้วยมือ หรือสร้างจากดินน้ำมัน โดยลักษณะเฉพาะของ Animation ประเภทนี้ คือต้องมีตัวละครในการดําเนินเรื่องตามพล็อตเรื่อง ผ่านการแสดงบทบาท หรือบทสนทนา ตัวอย่างเช่น ผลงานจาก Studio Ghibli หรือ Pixar Studio

2. Animation ที่ไม่ได้ใช้ Character เพื่อนำเสนอเนื้อหา ซึ่งถูกนําไปใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโฆษณาที่ใช้เพื่ออธิบาย หรือจําลองลักษณะต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ (Demonstration) ซึ่งส่วนนี้อาจเป็นได้ทั้ง Animation และ Motion Graphics หรืออาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง เช่น ผลงานจาก The Mill, Psyop หรือ ManvsMachine

3. Visual Effect (VFX) คือ การสร้างภาพด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ จากกระบวนการ Animation โดยส่วนใหญ่ ลักษณะภาพจะมีความสมจริง (Realistic) กว่างาน Character Animation โดยผสมผสานภาพฉากหรือตัวละครที่เป็นของจริง และสร้างจากคอมพิวเตอร์ หรืออาจสร้างจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมดก็ได้ เช่น ตัวอย่างผลงาน จาก Industrial Light & Magic (ILM), Weta Digital หรือ Rhythm & Hues Studios

ส่วนคำว่า Motion Graphics หรืออาจเรียกว่า Motion Design ก็ได้ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน โดย Justin Cone ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Motionographer ที่เป็นเหมือน Hub ของคนอุตสาหกรรมนี้ได้อธิบายถึง Motion Design ในงาน FITC 2017 ไว้ว่าเป็นสื่อที่ผสมผสานระหว่างสื่อภาพกราฟิก และสื่อภาพเคลื่อนไหว รวมทั้งผสมผสานเทคนิคกระบวนการคิด และแก้ปัญหาแบบงานออกแบบกราฟิก การเล่าเรื่อง ภาษาทางภาพยนตร์ และ Animation


ทั้งนี้ Motion Graphics นั้นไม่จำเป็นต้องมีบทสนทนาของตัวละครในการเล่าเรื่องก็ได้ แต่จำเป็นต้องมี Concept ที่ต้องการสื่อสารที่ชัดเจน ซึ่งอาจมีตัวละครหรือไม่มีก็ได้ โดยการเล่าเรื่องอาจใช้เทคนิคเดียว หรือผสมผสานเทคนิคที่หลากหลาย ทั้ง 2D/3D Animation การออกแบบกราฟิก การผลิตภาพยนตร์ เพื่อสื่อสารเนื้อหาที่เราต้องการให้สำเร็จ โดย Motion Graphics จะมีลักษณะที่ชัดเจน คือ การให้ความสำคัญเรื่อง Art Direction และ Branding ส่วนหนึ่งเพราะมีรากฐานมาจากงาน Graphic Design ตัวอย่างเช่นงาน Title Design , Broadcast Design หรือ Music Video

ในแง่รูปแบบนั้น Motion Graphics นั้นถือเป็น Animation รูปแบบหนึ่ง ส่วนในแง่เทคนิค Animation ก็เป็นเพียงเทคนิคหนึ่งสำหรับการสร้างผลงาน Motion Graphics ดังนั้นการทำความเข้าใจเพียงนิยามจากคำสองคำนี้อาจจะช่วยขยายกรอบอ้างอิงเดิมของเราไปสู่การแสวงหาแนวทาง และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการผสมผสานเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวที่มีเสน่ห์ และมีความหลากหลายมากขึ้น

 


ที่มา : beartheschool