Logo Design ที่แบรนด์ระดับโลกใช้กัน !
ถ้าอยากเป็นที่จดจำ เราต้องมีตัวตน และต้องให้คนเห็น เช่นเดียวกับแบรนด์ องค์กร หรือธุรกิจ แต่ก่อนที่คนจะสัมผัสแบรนด์ สิ่งที่พอจะบอกลูกค้าได้ถึงตัวตนของแบรนด์นั้นก็คือ Logo นั่นเอง การออกแบบโลโก้ หรือตราสินค้า ถือเป็นการออกแบบที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการออกแบบแบรนด์ เพราะโลโก้หรือตราสินค้าจะมีส่งผลต่อการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และการจดจำแบรนด์ของลูกค้า
โลโก้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ must have แต่ always good to have เพราะ...
- เป็นเสมือนตัวแทนที่สร้างความประทับใจของแบรนด์/ธุรกิจ
- บ่งบอกตัวตน
- แตกต่างจากคู่แข่ง
- สร้างลูกค้าที่ภักดีกับแบรนด์
- มีความเป็นมืออาชีพ
- เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น
สำหรับคนที่กำลังอยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์ หรือการออกแบบ Brand วันนี้เราจะนำหลักการออกแบบโลโก้ ที่เป็นมาตรฐานสากลระดับแบรนด์ดังๆ มากฝากกันค่ะ
1. โลโก้ตัวย่อ (Lettermark Logo)
เป็นลักษณะโลโก้ที่เป็นรูปตัวอักษรที่ย่อจากชื่อเต็มๆ ให้เหลือตัวอักษรแค่ไม่กี่ตัว โดยอาจจะมีการออกแบบลักษณะอักษรพิเศษ หรือใส่องค์ประกอบที่ทำให้ตัวอักษรนั้นโดดเด่น แตกต่างจากตัวอักษรทั่ว ๆ ไป เช่น โลโก้ของ สวทช , GTH, Louis Vuitton, BBC NEWS เป็นต้น
2.โลโก้ตัวอักษร (Wordmark Logo)
เป็นโลโก้ที่เน้นการใช้ตัวอักษรเหมือนแบบแรก ต่างกันที่ไม่ใช้เป็นชื่อย่อ แต่นำมาออกแบบเรียงเป็นชื่อแบรนด์เลย การออกแบบลักษณะนี้มีวิธีสร้างการจดจำโดยเลือกรูปแบบของฟ้อนต์ หรือตัวอักษรที่นำมาใช้ ที่นอกจากจะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แล้ว ต้องเลือกแบบตัวอักษรที่สะท้อนภาพลักษณ์ บุคลิกภาพของแบรนด์ด้วย
ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์ Dior เลือกใช้ฟ้อนต์ที่คลาสสิค สะท้อนความหรูหรายาวนานข้ามกาลเวลา หรือแบรนด์ Google ที่เลือกใช้ฟ้อนต์สนุกสนานหลากสีสันสะท้อนถึงความแตกต่างหลากหลายของข้อมูลมหาศาลจากทั่วโลกที่มารวมในแพลตฟอร์มเดียวกัน เป็นทั้งสีสัน และสาระให้กับผู้ใช้ เป็นต้น
3. โลโก้แบบสัญลักษณ์และกราฟิก (Pictorial Mark / Symbol)
เป็นโลโก้ที่เกิดจากการเอารูปภาพที่เราคุ้นตาอยู่แล้วมาออกแบบใหม่ให้เป็นรูปสัญลักษณ์ หรือไอคอนที่จดจำได้ง่ายขึ้น เมื่อเห็นครั้งแรกจะสามารถนึกออกได้ทันทีว่าคือรูปอะไร เช่น Apple, Twitter, Playboy หรือ Foodpanda
4. Logo Design แบบโลโก้เชิงสัญลักษณ์ (Abstract Logo Mark)
โลโก้ประเภทนี้จะเป็นภาพสมมุติที่เกิดจากการเอารูปทรงเรขาคณิตต่างๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ฯลฯ นำมาออกแบบให้เกิดเป็นสัญลักษณ์รูปทรงใหม่ที่แปลกตา หรือ เป็นรูปทรงนามธรรม โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้คนดูออกหรือเข้าใจในครั้งแรกที่เห็นก็ได้
แต่หลักสำคัญของ Logo Design ประเภทนี้ก็คือ การคุม Mood&Tone ของการออกแบบ ต้องสามารถสื่อสารตัวตน หรือ บุคลิกภาพของแบรนด์ได้ชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น Nike ที่เป็นรูปคล้ายการตวัดสิ่งของหรือวัตถุเร็วๆ ผ่านอากาศไป ซึ่งสื่อถึงจุดเด่นแบรนด์ Nike ที่เป็นรองเท้ากีฬาได้อย่างดีเลย คือเน้นการเคลื่อนที่รวดเร็วว่องไว
5.มาสคอต (Mascot)
เป็นการออกแบบโลโก้เป็นรูปคนหรือตัวการ์ตูนที่สื่อถึงผู้ก่อตั้งบริษัท เช่น KFC, เถ้าแก่น้อย เป็นต้น หรือบางทีมาสคอตก็อาจจะเป็นรูปตัวการ์ตูนที่สื่อถึงจุดเด่นของแบรนด์หรือเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ก็ได้เหมือนกัน ซึ่งการออกแบบลักษณะนี้จะช่วยสร้างการจดจำได้ดี ต่อให้คนจำชื่อแบรนด์ไม่ได้แต่ก็จะจำรูปมาสคอตได้
6.โลโก้ภาพและตัวอักษร (Combination Mark)
เป็นการผสมผสานรวมกันระหว่างตัวอักษร และรูปภาพในโลโก้เดียวกัน อาจจะจัดวางไว้ข้างๆ กัน หรือบนกับล่าง หรือรวมผสานกันเป็นหนึ่งเดียวกันเลยก็ได้ เช่น Puma, COACH, Burger King หรือ DUNKIN DONUTS ซึ่งรูปภาพที่นำมาประกอบโลโก้ตัวอักษรจะสื่อถึงได้หลายอย่าง อาทิ สื่อถึงสินค้าที่แบรนด์ขายเช่นแก้วกาแฟในโลโก้เก่าของแบรนด์ Dunkin’ Donuts ที่ต้องการให้รู้ว่าขายกาแฟ และโดนัท
ซึ่งตอนนี้ Dunkin’ เองก็มีการรีแบรนด์ปรับโลโก้ใหม่ให้ทันสมัย และขยายไลน์สินค้าโดยได้ตัดแก้วกาแฟ ตัดคำว่า Donuts ออกไป และลดตัวหนังสือลงให้เหลือเป็นแบบ Lettermark เหลือตัวอักษรแค่ 4 ตัว คือ DUNKIN’
ในขณะที่บางแบรนด์มีการลดทอนเอารูปภาพประกอบโลโก้ออกเพื่อขยายธุรกิจ และขยายตลาด บางแบรนด์ก็ยังคงรักษารูปแบบโลโก้แนวผสมผสานนี้ไว้อย่างเหนียวแน่นเพราะรูปภาพนั้นมีอิทธิพล สร้างการจดจำได้ดีกว่าชื่อแบรนด์เสียอีก อย่างเช่นแบรนด์ PUMA ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีเจ้าเสือพูม่าอยู่ในโลโก้ เป็นต้น
7. ตรา ( Emblem Logo Design )
เป็นโลโก้แบบตราสัญลักษณ์ที่ทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ รูปทรงต่าง ๆ อยู่ในกรอบเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ลักษณะกรอบรอบนอกมีทั้งแบบที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยม วงกลม โล่ หรือรูปทรงอื่น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น โลโก้ของ Starbucks, Harley Davidson, แม่ประนอม, BMW เป็นต้น การออกแบบโลโก้แบบ Emblem หรือตราสัญลักษณ์มักถูกนำมาใช้ในการออกแบบโลโก้สถาบันต่าง ๆ อาทิ โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, องค์กรทางสังคม, และหน่วยงานของรัฐ