คิด... อย่างนักออกแบบ - Design Thinking

คิด... อย่างนักออกแบบ - Design Thinking


ปัจจุบันการออกแบบหรือการลงทุนเกี่ยวกับความคิดนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการลงทุนหรือประกอบธุรกิจอยู่แล้ว เพราะความต้องการของผู้บริโภคในขณะนี้นั้นไม่ได้ต้องการเพียงแค่ประโยชน์ในการใช้งาน หรือรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เพียงเท่านั้ แต่ยังให้ความสำคัญกับการบริการที่ต้องเชื่อมโยงทุกความต้องการในชีวิตของพวกเขาอีกด้วย การออกแบบที่ดีจึงต้องคำนึงผู้บริโภคในทุกแง่มุมอยู่เสมอ รวมไปถึงรูปแบบการคิดอย่างเป็นระบบอีกด้วย 

ต่อมาคำถามคือนักออกแบบที่ดีนั้นมีกระบวนการคิดอย่างไร ไนเจล ครอส (Nigel Cross) นักทฤษฎีด้านการออกแบบคนสำคัญในช่วงปี 1980s-1990s เคยกล่าวถึงวิธีคิดของนักออกแบบไว้ว่า
- นักออกแบบชอบคิดนอกกรอบ
- นักออกแบบมักใช้สัญชาตญาณในการทำงานโดยที่เขาอาจไม่รู้ตัวเลย
- ทุกครั้งที่ทำงาน หัวสมองของนักออกแบบจะหาคำตอบและหนทางแก้ไขให้กับแต่ละปัญหาได้
- นักออกแบบพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดตามสถานการณ์ในแต่ละครั้ง
- นักออกแบบคิดหาหนทางแก้ไขเป็นภาพ มากกว่าเป็นตัวอักษร
- นักออกแบบจะเปิดรับการเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและแรงบันดาลใจที่หลากหลายเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ได้
ทั้งนี้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการออกแบบ แต่เป็นการนำกระบวนการในการคิดที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคล โดยนึกถึงธรรมชาติของผู้ใช้งาน รูปแบบของธุรกิจ ประกอบกับการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ มีผู้กล่าวและเขียนเกี่ยวกับ Design Thinking อยู่มากมาย และกระบวนการที่ถูกอ้างบ่อยๆ จะมีดังนี้


Empathy คือ การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด ด้วยวิธีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อสร้างสรรค์หรือแก้ไชสิ่งใดก็ตาม ควรจะต้องเข้าใจเป้าหมายอย่างถ่องแท้ เพราะนี่เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การพัฒนาความสำเร็จในทุกๆ ธุรกิจ

Define การสังเคราะห์ข้อมูล คือการตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำกัดกรอบในการแก้ปัญหา ภายหลังจากการที่เราเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ก็ต้องวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดให้ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร จากนั้นสรุปแนวทางและความเป็นไปได้

Ideate การระดมความคิดใหม่ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด หรือการสร้างความคิดต่างๆ ให้เกิดขึ้น เน้นแนวทางในการหาแนวคิด การแก้ปัญหาให้มากและหลากหลายที่สุด โดยแนวความคิดต่างๆ คิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดในขั้น Define

Prototype การสร้างต้นแบบหรือแบบจำลอง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถทดสอบ ตอบคำถาม และกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจสิ่งที่อยากรู้ และยิ่งสร้างเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ทดลองหาข้อผิดพลาด และจะทำให้เรียนรู้เกี่ยวกับไอเดียของเราได้เร็วขึ้น

Test นำแบบจำลองที่สร้างขึ้นมาทดสอบกับผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสังเกตประสิทธิภาพในการใช้งาน และนำผลตอบรับต่างๆ มาพัฒนาและปรับปรุงต่อไป

สำหรับกระบวนการข้างต้น อาจไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับอย่างนี้เสมอไป เลือกตามความเหมาะสมของงานและที่สำคัญ หลักการของ Design Thinking เน้น Human-Center Approach หรือเรียกว่าเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลัก อีกทั้งให้ความสำคัญกับประสบการณ์ ความคิด ความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมาย เพราะ Design Thinking ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงการออกแบบ หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่สามารถนำมาปรับใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เพียงแค่เข้าใจหลักการและการนำเครื่องมือมาประยุกต์ใช้

การเป็นนักออกแบบที่ดีและประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องยาก การพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ควบคู่ไปกับหลักเหตุผลบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปได้ ผนวกกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ที่ได้สะสมมา อีกทั้งการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ เพราะการหมั่นใส่ใจหาความรู้ใหม่ให้แก่ตัวเราอยู่เสมอจะช่วยให้เราไม่หยุดพัฒนาทางความคิดและศักยภาพ








ที่มา : WhiteTofu - applicadthai