อิทธิพลของสื่อโฆษณา
ยุคโซเชียลมีเดียให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์และสื่อที่เป็นประเภทภาพและเสียงมากขึ้น จึงไม่แปลกที่การทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไรก็ตามเราจึงจำเป็นต้องอาศัยสื่อโฆษณาเพื่อเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจได้ขยายและให้เป็นที่รู้จักต่อผู้บริโภค และปัจจุบันเราก็อาจพบเห็นสื่อประเภทนี้มากขึ้น เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะสามารถทำให้ชักจูงและโน้มน้าวใจผู้บริโภคได้ หรืออาจเรียกว่าสามารถโฆษณาชวนเชื่อได้สำเร็จ
สื่อโฆษณา หมายถึง เครื่องมือทางการตลาดที่ผู้ประกอบการใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรศัพท์ แผ่นป้าย โปสเตอร์ โซเชียลมีเดีย หรือกล่าวได้ว่า การโฆษณา คือการเผยแพร่และชักจูงในเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ด้วยข้อความผ่านสื่อประเภทต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายต้องการให้สินค้าไปถึงผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด
ประเภทของสื่อโฆษณา
- การโฆษณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
- การโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์
- โฆษณาโดยป้ายประกาศ
- โฆษณาโดยใช้จดหมายตรง
- โฆษณาโดยใช้สมุดโทรศัพท์
- จัดแสดงสินค้า
จุดประสงค์ของการโฆษณา
- แนะนำสินค้า บริการ ให้เป็นที่รู้จัก เป็นการเผยแพร่และส่งเสริมการขายสินค้านั้น
- เพื่อให้ทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการว่ามีการพัฒนาอย่างไร
- สร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการใช้สินค้านั้นๆ
- เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มีการซื้อขายเพิ่มยอด
การโฆษณานั้นถือว่าเป็นการกระตุ้นความต้องการของมนุษย์ เพราะมนุษยืนั้นมีความต้องการอยู่ตลอดเวลาและมีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด โฆษณาจึงเปรียบเสมือนแรงในการกระตุ้นความต้องการให้มีเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเกิดความอ่อนไหว คล้อยตาม กระตุ้นเพื่อให้รู้สึกว่าสินค้าชิ้นนั้นมีความเหมาะสมกับตนเองจนไม่คำนึงถึงราคาและความจำเป็น การโฆษณาที่ดีนั้นต้องสามารถทำให้รับรู้ได้ถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน เพื่อให้ผู้บริโภคนั้นสามารถเกิดความเชื่อและสามารถจดจำได้ง่าย เช่นการติดตั้งป้ายโฆษณา มีคำเฉพาะให้จดจำ หรือสื่อโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์ที่เร้าอารมณ์ อีกทั้งการกระตุ้นผ่านสื่อ หรือ Influencer ก็จะทำให้ผู้บริโภคภายในกลุ่มนั้นๆ เกิดความเชื่อและคล้อยตามได้ เพราะมีความคล้อยตามกันภายในกลุ่มหรือ Influencer ท่านนั้นอยู่แล้ว
สิ่งสำคัญคือ ควรยึดหลักพิจารณาข้อความโฆษณาสินค้าและบริการทุกประเภทให้มีความเป็นจริงมากที่สุด ไม่หลอกลวงผู้บริโภค อีกทั้งควรมีความสอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา พ.ศ. 2552 มาตรา 22 ดังนี้ คือ การโฆษณาจะต้องไม่มีข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมโดยส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็ฯข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
การโฆษณาทั้งหลากหลายช่องทางนั้น โปรดอย่าลืมคำนึงว่าเมื่อถูกส่งไปยังผู้บริโภคแล้วจะถูกกระจายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นไม่ควรทำโฆษณาให้เกิดปัญหาภายในอนาคต เพราะไม่เช่นนั้นกระแสที่เกิดขึ้นกับสินค้า อาจทำให้ดับมากกว่าเกิด ส่งผลเสียต่อธุรกิจหลายด้าน จนทำให้สุดท้ายธุรกิจต้องล้มเลิก หยุด ขาดทุนและเสียเวลาก็เป็นได้