Insight Food delivery ร้านอาหารควรปรับตัวอย่างไรในช่วงสถานการณ์ Covid-19

Insight Food delivery ร้านอาหารควรปรับตัวอย่างไรในช่วงสถานการณ์ Covid-19

เปิดข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับ Food delivery ช่วงโควิดระลอก 3 
LINE MAN Wongnai ได้เปิดเผยสถิติล่าสุดของผู้บริโภคในช่วงโควิดระบาดรอบล่าสุด เพื่อเป็นแนวทางให้ร้านในพื้นที่ควบคุม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ได้ปรับตัวให้เหมาะสมกับผู้บริโภคช่วงนี้ โดยพบเทรนด์น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

ประเภทของร้านอาหารที่คนนิยมสั่งเดลิเวอรีสูงสุด
1.ร้านกาแฟ 
2.ร้านอาหารจานเดียว 
3.ร้านอาหารตามสั่ง 
4.ร้านก๋วยเตี๋ยว 
5.ร้านอาหารไทย

สัดส่วนอายุของผู้บริโภคที่สั่งเดลิเวอรี
0-19 ปี            6.2%
20-24 ปี          22.8%
25-29 ปี          21.9%
30-34 ปี          22.4%
35-39 ปี          15.2%
40 ปีขึ้นไป       11.4%

จากสถิตินี้ ทำให้ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก กลุ่มวัยเรียน และ First Jobber อายุ 20-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีสั่งเดลิเวอรีสูงสุด ตามด้วยกลุ่มวัยทำงานอายุ 30-34 ปี และ 25-29 ปี หากแบ่งเป็นเพศ จะพบว่าคนที่ใช้บริการ Food delivery ส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง 71.11% และเพศชาย 28.89%

วัน และเวลาที่มีการสั่งเดลิเวอรีสูงที่สุด
วันอาทิตย์, วันศุกร์ และวันเสาร์ เป็นวันที่มีออร์เดอร์สูงที่สุดตามลำดับ
ส่วนช่วงเวลาที่มีออร์เดอร์สูงที่สุดคือ 11:00-12:00 น. 12:00-13:00 น. และ 13:00-14:00 น. แล้วเว้นช่วงมาเป็นมื้อเย็น 18:00-19:00 น. และ 19:00-20:00 น. โดยระยะทางเฉลี่ยที่ผู้ใช้ LINE MAN สั่งอาหารคือ 3.19 กิโลเมตร ซึ่งลดน้อยลงจากในอดีต ดังนั้น สรุปได้ว่า 'ศุกร์-อาทิตย์' เป็นเวลาแห่งเดลิเวอรี และควรเน้นกลางวันมากกว่าเย็น  รวมถึงควรเปิดร้านให้เช้าขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

เมนูที่ถูกสั่งตามช่วงเวลามากสุด
- ช่วงเช้า (6:00-9:00 น.) – กาแฟ, หมูปิ้ง, ปาท่องโก๋, ชา, โกโก้, ข้าวมันไก่, โจ๊ก, ต้มเลือดหมู, ไข่ลวก และโก๋กรอบ ตามลำดับ
- ช่วงกลางวัน (9:00-21:00 น.) – กาแฟ ยังคงเป็นเมนูที่ถูกสั่งเยอะที่สุดในช่วงกลางวัน ตามมาด้วย ชา, ตำ, คอหมูย่าง, โกโก้, ลาบหมู, ข้าวมันไก่, หมูสามชั้น, ข้าวผัด และแซลมอน/แซลมอนเบิร์น
- ช่วงค่ำ (หลัง 21:00 น.) – นิยมอาหารอีสาน ได้แก่ หมูสามชั้น, ตำ, คอหมูย่าง และลาบหมู ตามมาด้วย ข้าวต้ม, ไส้กรอก, ข้าวมันไก่, ข้าวผัดหมู, ส้มตำ และยำ

จากข้อมูลดังกล่าว 'ต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี' แห่งร้าน Penguin Eat Shabu และ 'แทน-กิตติเดช วิมลรัตน์' เจ้าของร้านกะเพรา เผ็ดมาร์ค และเจ้าของเพจ ITAN-ไร้เทียมทาน ได้สรุปให้เห็นถึงเทรนด์ และการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารไว้น่าสนใจหลายประเด็น
- มูลค่าตลาดเล็กลง ผู้เล่นในตลาดเยอะขึ้น เพราะเมื่อดูมูลค่าธุรกิจร้านอาหารจะเห็นว่า ในปี 2561 อยู่ที่ 420,000 ล้านบาท ในปี 2562 โตขึ้น 3% คิดเป็มูลค่ากว่า 435,000 ล้านบาท แต่ในปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด 19 ทำให้ตลาดโตลดลง 6% มีมูลค่าต่ำกว่า 405,000 ล้านบาท และดูมูลค่าของธุรกิจนี้จะลดลงเพิ่มไปอีกในปี 2564 ขณะที่จำนวนร้านอาหารนั้น มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 มีอยู่ราว 259,394 ร้าน  ปี 2562 อยู่ที่ 332,499 ร้าน เพิ่มขึ้น 28% และในปี 2563 มีจำนวน 539,151 ร้าน เพิ่มขึ้น 62%
- กลุ่มอายุ 20-34 ปี เป็นกลุ่มที่มีการสั่งเดลิเวอรีมากสุด แต่ไม่ได้หมายความว่า กลุ่ม 35 ปีขึ้นไปจะไม่น่าสนใจ เพราะกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ดังนั้นร้านอาหารควรมีการวางแผนในการโฟกัสลูกค้ากลุ่มนี้แบบเฉพาะ เช่น มีเมนูที่ตอบโจทย์ความต้องการ อาทิ อาหารคลีน เป็นต้น
- การทำการตลาดและการสื่อสารควรโฟกัสไปที่เพศหญิง เพราะเป็น 3 ใน 4 ของกลุ่มที่สั่งเดลิเวอรีทั้งหมด
- วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ คือ เวลาทองของเดลิเวอรี
- หากต้องการทำเดลิเวอรี ควรเปิดร้านตั้งแต่ช่วงเวลา 9.00-10.00 น. เพื่อเตรียมตัวรองรับออเดอร์ที่จะเข้ามามาก เพราะดูสถิติของ LINE MAN Wongnai จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่มีออร์เดอร์สูงที่สุด เริ่มตั้งแต่ 11:00 น.เป็นต้นไป
- การขายเครื่องดื่ม จะช่วยเพิ่มยอดขายต่อบิลให้กับร้านได้ เพราะเครื่องดื่มทั้ง กาแฟ ชา และโกโก้ เป็น 3 เมนูแรกที่คนสั่งผ่านเดลิเวอรีมากที่สุด
- อาหารที่เหมาะกับเดลิเวอรี นั่นคือ อาหารจานเดียวหรืออาหารทานง่าย ดังนั้นร้านอาหารควรมีการคิดเมนูประเภทนี้ขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย
-อาหารไทยได้รับความนิยมมากกว่าอาหารต่างชาติในเดลิเวอรี ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ที่ร้านอาหารต่างชาติต้องนำไปคิดแก้เกม
-การตั้งราคาอาหารควรเฉลี่ยต่อจานที่ 60-70 บาท เพราะเป็นราคาที่คนกดสั่งซื้อมากที่สุด

มุมมองในเรื่องการปรับตัวในช่วงสถานการณ์ Covid-19 โดย เกษม พฤกษานานนท์ Business 
Development Manager จาก Wongnai กล่าวว่า..
  “สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เห็นว่าธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว ก็จะสามารถอยู่รอดได้แม้ในสถานการณ์วิกฤต ส่วน Wongnai เอง เราได้เรียนรู้ที่จะต้องปรับตัวเช่นกัน และการที่เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีทำให้สามารถปรับตัวได้เร็ว เห็นได้จากช่วงวิกฤตมีร้านอาหารต้องการเข้าสู่ตลาดเดลิเวอรีเป็นจำนวนมาก เราจึงปรับปรุงกระบวนการทำงานหลังบ้านให้รวดเร็วขึ้น สามารถรองรับร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาได้เร็วขึ้น และมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นรับได้ถึง 1,500 ร้านค้าต่อวัน นอกจากนี้ ยังได้ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น การให้ร้านอาหารบริหารจัดการคำสั่งซื้อด้วยตัวเอง รวมทั้งออกโปรโมชั่นต่างๆ ได้เอง การเพิ่มฟีเจอร์ Pickup เป็นระบบการสั่งซื้อล่วงหน้าทางออนไลน์ และลูกค้าจะไปรับอาหารด้วยตัวเอง”   

Wongnai ยังเห็นโอกาสในการขยายตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากจะรองรับการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery แล้ว ในอนาคตหากมีการระบาดของเชื้อโควิดระรอกใหม่ ธุรกิจจะสามารถเข้าไปสนับสนุนร้านอาหารในต่างจังหวัดได้มากขึ้น