การออกแบบโปสเตอร์

การออกแบบโปสเตอร์


การออกแบบไม่ว่าจะอะไรก็ตามแต่ ล้วนแล้วแต่ต้องมีหลักการเพื่อให้เป็นหลักในการออกแบบ และนำไปประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะรูปแบบงานของตนหรือความถนัด อย่างน้อยเพื่อให้เกิดรูปแบบลักษณะที่มีอยู่ในทิศทางเดียวกัน และให้เข้าใจได้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารนั่นเอง

สำหรับหลักการของการออกแบบโปสเตอร์นั้นมีสิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปนี้
        1.ความเป็นเอกภาพ (Unity) เป็นการทำให้สาระและองค์ประกอบทุกส่วนนั้นมีความสัมพันธ์และคล้องจองกัน สร้างจุดรวมสายตา เน้นให้องค์ประกอบนั้นมีความโดดเด่นยิ่งขึ้น
        2.ดุลยภาพหรือความสมดุล (Balancing) เหมาะกับงานที่เป็นทางการ เป็นการออกแบบให้มีความเท่ากัน ไม่เอียงหรือหนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง 
 
        ความสมดุลในการออกแบบกราฟิกเป็นการจัดสมดุลในด้านรูปแบบและสี มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
                2.1 สมดุลแบบซ้ายขวาเท่ากัน (Formal of Symmetrical Balance)
                2.2 สมดุลแบบซ้ายขวาไม่เท่ากัน (Formal of Asymmetrical Balance)
 
        3.สัดส่วน (Proportion) ความพอเหมาะพอดีทางด้านสัดส่วน รูปร่าง เน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนกับการจัดตำแหน่ง สัดส่วนโครงสี สัดส่วนกับพื้นที่ว่าง สัดส่วนของข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ ตลอดจนความเข้มของแสงและเงา การจัดสัดส่วนในรูปแบบต่างๆ จะมีผลให้เกิดความน่าสนใจและชวนมองยิ่งขึ้น
        4.ความมีจุดเด่น (Emphasis) การสร้างจุดสนใจให้ผู้ดูได้รับข้อมูลหลักตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ผู้ออกแบบจะเป็นผู้กำหนดว่าส่วนใดนั้นจะเป็นส่วนที่สำคัญ ต้องการเน้นให้เห็นชัดเจน ส่วนใดเป็นส่วนประกอบ

การออกแบบโปสเตอร์ มีส่วนประกอบที่เห็นได้ชัดเจน คือ เรื่องของภาพ และข้อความ นอกเหนือการคัดเลือกภาพ และการคิดข้อความ ให้น่าสนใจแล้ว การออกแบบภาพ และการกำหนดตัวอักษรก็เป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนทำให้โปสเตอร์เกิดความน่าสนใจ

ตัวอักษรหรือข้อความหัวเรื่องจะเป็นตัวบรรยายข้อมูล สาระ การกำหนดตัวอักษรจึงต้องเน้นที่ ขนาดของตัวอักษร รูปแบบตัวอักษร การกำหนดโครงสี

ขนาดของตัวอักษร ทั่วไปมี 3 ขนาด คือ
        • ขนาดใหญ่ สำหรับพาดหัว (Heading)
        • ขนาดกลาง สำหรับข้อความรองพาดหัว (Sub Heading)  
        • ขนาดเล็ก สำหรับข้อความรายละเอียด (Copy)

หลักการออกแบบขนาดของตัวอักษร
        • ต้องอ่านได้ชัดเจน
        • พิจารณาขนาดสัดส่วนของตัวอักษรที่สัมพันธ์กับระยะห่างระหว่างสายตากับสิ่งที่มองเห็น
        • ขนาดมาตรฐานของตัวอักษรที่ระยะห่าวระหว่าง สายตา 20 นิ้ว ควรมีขนาดความสูงประมาณ 1/8 นิ้ว
        • ระยะห่างที่เพิ่มขึ้นทุก 5 นิ้ว ควรเพิ่มขนาดตัวอักษร 1/8 นิ้ว ทุกช่วงระยะห่างที่เพิ่มขึ้น

รูปแบบตัวอักษร
        การออกแบบตัวอักษรต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ความสวยงามแปลกตา ชัดเจน มีความสอดคล้องกับข้อความ เหล่านี้จะทำให้โปสเตอร์มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น และส่วนของรูปแบบตัวอักษรนั้นอาจมาจากจินตนาการใหม่ หรือการใช้ตัวอักษรที่ได้ทำการออกแบบไว้แล้ว

การกำหนดโครงสี เพื่อเป็นการเน้นให้ข้อความนั้นมีความเด่นชัด และสวยงามมากยิ่งขึ้น
        • ค่าน้ำหนักของสี (หมายถึงการตัดกันของสีตัวอักษรและสีพื้น)
        • สีที่ใช้กับตัวอักษรนั้น ไม่ควรมีมากเกินไป
        • ควรเลือกใช้สีให้เหมาะกับคำหรือข้อความนั้น

คู่สีตรงข้ามกัน มีดังต่อไปนี้
        • เหลือง ตรงข้ามกับ ม่วง
        • แดง ตรงข้ามกับ เขียว
        • น้ำเงิน ตรงข้ามกับ ส้ม
        • เขียวเหลือง ตรงข้ามกับ ม่วงแดง
        • ส้มเหลือง ตรงข้ามกับ ม่วงน้ำเงิน
        • ส้มแดง ตรงข้ามกับ เขียวน้ำเงิน 

การใช้สีในโปสเตอร์จะเป็นส่วนขององค์ประกอบที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้สัมพันธ์กับความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายได้ รวมไปถึงเนื้อเรื่อง วัตถุประสงค์ในการจัดทำ และสียังช่วยสร้างบรรยากาศ และการเกิดอารมณ์ร่วมกับผลงานเหล่านั้น เพื่อเป็นการโน้มน้าวใจ อีกทั้งการใช้สีที่เหมาะสมจะเป็นตัวกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมาย เกิดพฤติกรรมหรือการปฏิบัติตามในเรื่องนั้นๆ ได้เร็วขึ้น

ข้อควรพิจารณาในการออกแบบโปสเตอร์
        • สร้างความโดดเด่น เป็นจุดสนใจ
        • ใช้พื้นที่ว่างสีขาว สีพื้นอ่อนๆ
        • การใช้ภาพขยาย / สัดส่วนผิดรูป / การเน้นเฉพาะจุดที่สำคัญ
        • ใช้สีสดใส สะดุดตา
        • ความสวยงาม การสื่อความหมาย








ที่มา : เอกสารประกอบการสอนวิชา 412 365 การผลิตและการใช้สื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2548