Print is not dead - สื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้นั้นเป็นยุคของดิจิตอลที่มาแรงแซงทุกสิ่ง หลายสิ่งก็เปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองความทันสมัยนี้เอง การเปลี่ยนแปลงทำให้เห็นว่าของบางอย่างอาจไม่มีความจำเป็นที่จะอยู่ในยุคของเราอีกต่อไป เพียงเพราะว่าการมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า และอำนวยความสะดวกได้ดีกว่าของเดิมนั้นมากโข แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างของตัวมันเองนั้นมีเสน่ห์และความทรงจำฝังอยู่ ถึงแม้จะเหลือเพียงคนบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับมัน แต่ก็ถือว่ากลิ่นอายของมันก็มีเสน่ห์ที่ยุคดิจิตอลยังเข้าไม่ถึงนั่นเอง
สำหรับที่กล่าวมาข้างต้นเรากำลังพูดถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ยอมรับว่ายุคดิจิตอลนี้ทำเอาสื่อหลายสำนักต้องปิดตัวลงไป เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับสื่อที่มีความทันสมัยมากกว่า ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์ถูกลดความสนใจลงมากจากผู้บริโภค และการเติบโตของเทคโนโลยี สื่อดิจิตอลที่สามารถอำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภคได้มากกว่า
การเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้หลายท่านหวั่นเกรงว่า สื่อสิ่งพิมพ์นั้นจะหมดและหดหายไป เพราะถึงแม้ว่าจะยังมีผู้บริโภคให้ความสนใจแต่ก็ไม่อาจครอบคลุมหรือเปลี่ยนให้กระแสของสิ่งพิมพ์กลับมาได้ แต่ในความจริงอาจไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นต้องหายไป แต่อาจมีความเสี่ยงของการมีอยู่ในอนาคต เช่นกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอาจมีไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่ม ในส่วนของกลุ่มหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน จุลสาร มีความเสี่ยงมากที่สุดเพราะ ไลฟ์ไซเคิลค่อนข้างสั้น มีการตอบสนองช้า กลุ่มเหล่านี้ถูกสื่อออนไลน์และสื่อโซเชียลแย่งชิงตลาดไปอย่างแน่นอน สำหรับอีกกลุ่มคือ กลุ่มพ็อกเกตบุ็ก ซึ่งสังเกตจากพฤติกรรม และมุมมองของนักอ่าน กลุ่มนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะยังคงอยู่ เพราะผู้บริโภคยังนิยมการอ่านหนังสือในรูปแบบเล่มมากกว่า
แต่ทุกสื่ออาจจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบทางสังคมมากที่สุดโดยเฉพาะ กลุ่มหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน เพราะสิ่งที่เรารู้อย่างแน่ชัดนั่นก็คือ ผู้บริโภคทุกวันนี้ยังคงเสพสื่อเป็นปกติ และเป็นประจำ แต่อาจมีช่องทางและรูปแบบวิธีการเสพนั้นแตกต่างกันออกไปตามความชอบ ความถนัด สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้เนื้อหาที่ต้องการสื่อ นั้นมีความน่าสนใจและแปลกใหม่ที่สุด หรืออีกหนทางอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่ เพื่อให้ทางสื่อออนไลน์สามารถพยุงสื่อสิ่งพิมพ์ให้ไปด้วยกันได้ เช่นการทำอีบุ๊ก หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการนำเสนอ
ยกตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์แม่บ้านที่ปรับตัวได้อย่างน่าสนใจมาก แค่ชื่อก็รู้ว่าเก่าแก่แค่ไหน แต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างคุณดุจเดือน เหตระกูล และพงศ์สิริ เหตระกูล ก็ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ ที่จะปฏิรูปการทำงานของสำนักพิมพ์ใหม่ทั้งหมด รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจ จากเดิมนำเสนอเนื้อหาผ่านสิ่งพิมพ์ ก็ปรับมาสู่ออนไลน์ควบคู่ พร้อมทั้งสร้างเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์กับสื่อโซเชียลมีเดีย
สรุปได้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์นั้นจะยังคงอยู่ หากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับมันมากพอ อีกทั้งอาจจะต้องยอมรับและเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บางสื่อสิ่งพิมพ์อาจจะยังอยู่ได้และบางสื่ออาจเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เราก็คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข คงต้องให้ความสนับสนุน และเสพจากสื่อจากสื่ออื่นๆ เพราะเทคโนโลยีที่ไม่หยุดก้าวหน้า เราผู้เป็นมนุษย์ในสังคมก็ต้องพัฒนาและปรับตัว เช่นกัน
ที่มา : thaipost, ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง