The Visual Era ยุคสมัยที่ทุกคนควรหันมา ‘สร้างภาพ’

The Visual Era ยุคสมัยที่ทุกคนควรหันมา ‘สร้างภาพ’


หลายคนคงเคยผ่านตากับตัวหนังสือขนาดใหญ่ หรือภาพที่มาพร้อมตัวหนังสือเหล่านั้น โดยมีพื้นหลังหรือข้อความที่แปลกและแตกต่างจาก Facebook สมัยก่อนที่เราได้ใช้งานกันอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่เพิ่มความน่าสนใจเหล่านี้เข้าไปก็เป็นการทำให้เรานั้นหยุดอ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของคนอื่นเพิ่มมากขึ้นจากเดิม

เหตุผลที่เฟซบุ๊กเกิดไอเดียในการโพสต์สเตตัสแบบนี้ เป็นเพราะเมื่อเดือนเมษายนของปี 2015 มีการสำรวจพบว่า คอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้มีจำนวนลดลง 21% และการแชร์คอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้งานเองก็ลดลง 15% ในขณะที่คอนเทนต์โฆษณาจากบริษัทหรือสื่อใหญ่ๆ มียอดการแชร์ที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลนี้ทำให้เฟซบุ๊กหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างคอนเทนต์จากผู้ใช้งานมากขึ้น  เพื่อเน้นย้ำการเป็นตัวกลางการสื่อสารระหว่างคนรัก เพื่อน และครอบครัว มากกว่าเป็นสื่อกลางการโฆษณา

เฟซบุ๊กเริ่มจากการขยายขนาดตัวหนังสือในสเตตัส ถ้าหากสเตตัสของคุณมีความยาวไม่มาก (หลายๆ คนน่าจะเคยสังเกตเห็นก่อนหน้านี้) จากนั้นจึงเริ่มปรับสีพื้นหลังพร้อมลวดลายของสเตตัสที่หลากหลายอย่างในปัจจุบัน ประกอบกับแนวโน้มความนิยมของคอนเทนต์ที่เป็นรูปภาพและวิดีโอ ที่ซีอีโออย่างมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เคยกล่าวว่าจะกลายเป็นอนาคตของการแชร์บนเฟซบุ๊ก ด้วยเหตุผลนี้เอง เฟซบุ๊กจึงพยายามสอดแทรกการรับรู้แบบ ‘ภาพ’ ให้เข้ามามีส่วนในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือบนเว็บไซต์

ภาพไม่ได้จะเข้ามาแทนที่ตัวหนังสือ  แต่ภาพจะเป็นสิ่งที่สามารถสื่อความหมายให้กับเราได้อย่างลึกซึ้งและตรงไปตรงมามากที่สุด และอีกหลายสิ่งก็ได้ใช้ภาพเป็นตัวกำหนดในการสื่อความหมายประกอบด้วยเช่นกัน

แล้วเพราะอะไร ทำไมเราต้องสร้างภาพ 
Visual Content หรือคอนเทนต์แบบภาพ กลายมาเป็นประเด็นที่กลุ่มนักการตลาดต่างให้ความสนใจ ละนำเสนอว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลที่ถูกนำเสนอด้วยภาพ ทั้งวิดีโอ และการนำเสนอแบบอินโฟกราฟิก ช่วยเพิ่มความต้องการในการอ่านข้อมูลได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือ และปัจจุบันมีนักการตลาดกว่า 37% ที่เชื่อว่าการทำการตลาดให้กับคอนเทนต์ด้วยภาพสำคัญต่อธุรกิจมาก เพราะมีผลสำรวจออกมาว่า ความผูกพัน (Engagement) ในเฟซบุ๊กจะมาจากโพสต์ที่เป็นรูปภาพ 13.7% และวิดีโอถึง 13.9% ซึ่งเป็นวิดีโอที่ถูกดูแบบไม่มีเสียงอีกด้วย ส่วนโพสต์ในเฟซบุ๊กที่มีรูปภาพประกอบก็สามารถสร้าง Engagement ที่สูงกว่าโพสต์ที่ไม่มีรูปภาพถึง 2.3 เท่า ในขณะที่แอปพลิเคชันที่ใช้พื้นฐานจากรูปภาพและวิดีโอเป็นหลักอย่างอินสตาแกรมก็มีผู้เข้าใช้งานจำนวนถึง 700 ล้านคนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันที่ใช้พื้นฐานจากตัวหนังสืออย่างทวิตเตอร์ แอปพลิเคชันอินสตาแกรมก็มีผู้ใช้งานเยอะกว่าถึง 2 เท่า

คนในสังคมต่างให้ความหมายกับข้อมูลที่เป็นภาพถ่ายมากกว่าข้อความอื่นใดทุกชนิด อาจเป็นเพราะมีความน่าสนใจ สามารถเข้าใจความหมายได้อย่างทันท่วงที หรือเป็นกลุ่มประเภทที่เปิดผ่านๆ ตาไป เผื่อมี Content ใดน่าสนใจจึงจะหยุดอ่าน อาจเพราะเหตุนี้ด้วยที่ทำให้ภาพอาจจำเป็นต้องดึงดูดและมีความสนใจมากพอที่จะฉุดสายตาให้เหล่านักท่องโซเชียลทั้งหลายให้หยุดมอง








ที่มา : thestandard