ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ

ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ


            เมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ หลายคนอาจนึกถึงศิลปะหรือผลงานที่ใช้หัวคิดดีไซน์ให้ออกมาเฉพาะตัว แท้จริงแล้วความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในทุกผลงาน และการแทรกตัวเข้าไปของความคิดเหล่านั้นก็เพื่อให้เกิดเป็นความสุขและสุนทรียภาพในการทำงาน

            Creativity มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน Creo = to creat, to make แปลว่า สร้าง หรือ ทำให้เกิด
           
            กระบวนการคิดของสมองสามารถคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่อยู่เสมอ เพราะภูมิหลังพื้นเพที่มีความแตกต่าง ส่งผลให้เกิดความคิดจินตนาการที่ไม่เหมือนใครและสามารถนำไปประยุกต์ได้กับศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหรือปฏิบัติ ความคิดสร้างสรรค์ จะเชื่อมโยงความคิดที่หลากหลาย แสวงหาทางเลือกใหม่อยู่เสมอ กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือโดยตั้งใจ ซึ่งทำได้โดยการฝึกฝน ระดมสมอง อีกทั้งความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ขยายขอบเขตความคิดเดิมๆ ให้กว้างและหลากหลายแง่มุม เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่นกัน

            องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ความคิดนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่ไม่เคยมีมาก่อน (New Original) ใช้การได้ (Workable) และมีความเหมาะสม (Appropriate) การคิดเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นการคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมไปสู่สิ่ง ใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปโดยสิ้นเชิงหรือที่เรียกว่า "นวัตกรรม" (Innovation)

ความคิดสร้างสรรค์ อาจสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้
      1.ความสามารถ (ability) ในการจินตนาการหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อาจเริ่มจากการสร้างสรรค์ความคิดใหม่จากการผสมผสาน (combining หรือ synthesizing) การเปลี่ยนแปลง (changing) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ (reapplying) ความคิดสร้างสรรค์บางเรื่องอาจน่าทึ่งและยอดเยี่ยม บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนส่วนใหญ่มองข้าม ความจริงแล้วทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ สังเกตได้ตั้งแต่วัยเด็ก แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์มักจะถูกครอบงำด้วยกระบวนการศึกษา และสามารถรื้อฟื้นให้กลับมาได้แต่ทั้งนี้ต้องประกอบกับความถนัด ความต้องการ พร้อมของใจและวันเวลาที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น
      2.ทัศนคติ (attitude) คือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ พร้อมที่จะเล่นกับความคิดที่หลากหลายและความเป็นไปได้ (probability) มีความคิดที่ยืดหยุ่น ชอบเห็นสิ่งที่ดีขึ้นและพร้อมที่จะปรับปรุงอยู่เสมอ
      3.กระบวนการ (process) ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะทำงานหนักเพื่อพัฒนาความคิดและแนวทางแก้ปัญหาของตนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ ความคิดสร้างสรรค์ที่เยี่ยมยอดไม่เคยปรากฏว่าเกิดจากการคิดเพียงครั้งเดียวหรือจากกิจกรรมสั้นๆ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์รู้ดีว่า การปรับปรุงให้ดีขึ้นสามารถทำได้เสมอ

สำหรับวิธีการคิดสร้างสรรค์ มีวิธีการที่หลากหลายแต่ที่สำคัญมี 5 วิธีการ คือ
      1.วิวัฒนาการ (evolution) เป็นวิธีการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยวิธีการแบบสะสมทีละขั้นตอน ความคิดใหม่เกิดจากความคิดหลากหลาย แนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ เกิดจากแนวทางเก่าที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น
      2.การผสมผสาน (synthesis) เป็นการผสมผสานหรือสังเคราะห์แนวคิดที่ ๑ กับ  ๒ เป็นแนวคิดที่ ๓ ซึ่งกลายเป็นความคิดใหม่
      3.การปฏิวัติ (revolution) ในบางครั้งความคิดใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
      4.ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ (reapplication) ปรับมุมมองเรื่องเก่า ด้วยมุมมองใหม่หรือมองแบบนอกกรอบ
      5.ปรับเปลี่ยนทิศทาง (changing direction) เป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางการมองปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลายยิ่งขึ้น

เพราะไม่ว่าเราต้องการความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานใดๆ ก็แล้วแต่ กระบวนความคิดหรือเหตุผลดังกล่าวข้างต้นมีความน่าสนใจชวนให้เราฉุกความคิดและกระตุกความคิดให้ลองปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานได้ นอกจากจะได้แนวทางเพิ่มขึ้นและยังอาจได้ผลงานใหม่ๆ โดยไม่รู้ตัวอีกก็เป็นได้

 

 

 

 

ที่มา : novabizz