นิยามความหมายของการออกแบบ

นิยามความหมายของการออกแบบ

จากบทความก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงหลักการออกแบบไว้อย่างมากมายที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ที่มีความแตกต่างกันออกไป แต่บทความนี้เราจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับ “นิยามความหมายของการออกแบบ” ที่อาจสร้างไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ให้การออกแบบของท่านนั้นไม่มีสิ้นสุด

 

การออกแบบ

สำหรับการออกแบบนั้น มีผู้นิยามความหมายของการออกแบบไว้หลายแนวทาง ซึ่งเราได้ยกตัวอย่างมา ดังนี้

1. การออกแบบคือ กระบวนการสร้างสรรค์ประเภทหนึ่งของมนุษย์ โดยมีทัศนธาตุและลักษณะของทัศนธาตุเป็นองค์ประกอบ ใช้ในทฤษฎีต่างๆ เป็นแนวทางและใช้วัสดุนานาชนิดเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ โดยนักออกแบบจะต้องมีขั้นตอนในการปฏิบัติงานขั้นตอนตลอดกระบวนการสร้างสรรค์ (มาโนช กงกะนันทน์. 2538:27)

 

2. การออกแบบคือ การวางแผนสร้างรูปแบบ โดยวางแผนจัดส่วนประกอบของการออกแบบ ให้สัมพันธ์กับประโยชน์ใช้สอย วัสดุและการผลิตสิ่งของที่ต้องการแบบนั้น (วิรุฬ ตั้งเจริญ. 2539: 20)

 

นวลน้อย บุญวงษ์ (2539: 2) ได้สรุปขอบเขตของการออกแบบเป็น 2 แนวทาง ไว้ดังนี้

  1. เป็นคำกริยา หมายถึง กระบวนการทำงานเพื่อให้เกิดเป็นผลผลิต
  2. เป็นคำนาม หมายถึง ผลงานหรือผลิตผลที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 กระบวนการคือ (1.กระบวนการออกแบบซึ่งยังอยู่ในรูปของแนวความคิด แบบร่างตลอดจนต้นแบบ) (2.กระบวนการผลิตซึ่งอยู่ในรูปของผลผลิตที่เป็นวัตถุสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ

 

ดังนั้นจึงสรุปความหมายของการออกแบบได้ว่า

การออกแบบคือ กระบวนการทำงานของมนุษย์ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดสิ่งใหม่อาจเป็นรูปแบบสองมิติหรือสามมิติ 

 

โดยกระบวนการทำงานนั้นมีการวางแผนในรูปของแนวคิด และปฏิบัติการตามขั้นตอนที่ได้วางแผนนั้นออกมาเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อสนองต่อความต้องการของตนเอง และคนในสังคม

ภาพจาก : ผลงาน

 

การแบ่งประเภทของงานออกแบบ

สำหรับงานออกแบบนั้น เป็นสื่อกลางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับวัตถุ ดังนั้นงานออกแบบจึงไม่อาจทำได้เพียงเพื่อความต้องการส่วนตน 

 

แต่จะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้อื่นและสภาพแวดล้อมด้วย และสภาพแวดล้อมในที่นี้คือ สภาพวัตถุ วัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนในสังคม ซึ่งอาจแบ่งประเภทของงานออกแบบกว้างๆ ได้ 3 ประเภทไว้ดังนี้ (วิรุฬ ตั้งเจริญ. 2539: 6)

  1. งานออกแบบเพื่อคุณค่าทางความงาม
  2. งานออกแบบเพื่อการติดต่อสื่อสาร
  3. งานออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย

 

1. งานออกแบบเพื่อคุณค่าทางความงาม

งานออกแบบเพื่อคุณค่าทางความงาม เน้นผลงานทางด้านอารมณ์สะเทือนใจความรู้สึกสัมผัสในความงาม และคุณค่าทัศนคติ ได้แก่ งานออกแบบทางทัศนศิลป์ ผู้สร้างงานประเภทนี้มักเรียกกันว่า "ศิลปิน" จะไม่เรียกนักออกแบบ By : มนูญ ไชยสมบูรณ์.2546
 

2. งานออกแบบเพื่อการติดต่อสื่อสาร

สำหรับงานออกแบบเพื่อการติดต่อสื่อสาร จะเป็นงานที่เน้นการสื่อสารด้วยภาษาและภาพที่เป็นสากล สามารถรับรู้ร่วมกันอาจเป็นงานพิมพ์หรือไม่ก็ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในทางความรู้ ความเข้าใจการชี้ชวนหรือเรียกร้อง ได้แก่ งานออกแบบสิ่งพิมพ์ งานออกแบบโฆษณา งานออกแบบพาณิชยศิลป์ งานออกแบบสัญลักษ์และเครื่องหมาย เป็นต้น

 

3. งานออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย

สำหรับงานออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอย จะเป็นงานออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้สอยหรือประโยชน์ทางกายเป็นหลัก และมีคุณค่าทางความงามเป็นตัวผลักดันให้งานออกแบบน่าสนใจ น่าใช้สอย ได้แก่ งานหัตถกรรมเป็นงานที่ทำด้วยมือ มีคุณค่าด้านความงาม แต่ก็มีประโยชน์ใช้สอย

 

อย่างไรก็ตามงานออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็นเครื่องไฟฟ้า และเครื่องจักรกลประกอบไว้ด้วย ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้งานออกแบบต้องเกี่ยวข้องกับกลไกที่สลับซับซ้อน เป็นต้น

 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย ถ้าหากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ





 

 

 

 

 

 

 

--Wynnsoft Solution รับทำเว็บไซต์ รับทำ SEO รับทำการตลาดออนไลน์ รับทำโฆษณา Facebook รับทำเว็บไซต์ ขอนแก่น และรับทำเว็บไซต์ทั่วประเทศ

ข้อมูลจาก : fineart.msu.ac.th