โปสเตอร์ (Poster) คืออะไร?
คำว่า โปสเตอร์ นั้นหลายคนคงได้ยินกันอย่างคุ้นหูมานาน แต่มีใครบ้างที่ทราบความหมายและประโยชน์ที่แท้จริงของโปสเตอร์คืออะไร
โปสเตอร์ (Poster) คือภาพขนาดใหญ่ที่พิมพ์บนกระดาษ มีการออกแบบเพื่อใช้ติด แขวนบนผนัง หรือกำแพง โปสเตอร์อาจจะเป็นภาพพิมพ์หรือภาพเขียนก็ได้ หรืออาจจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ และมีจุดประสงค์เพื่อทำให้สะดุดตาผู้รับสารและสามารถสื่อสารข้อมูลออกไปได้ ข้อบ่งใช้ของโปสเตอร์นั้นอาจใช้สอยได้หลายประการ แต่ส่วนใหญ่ที่พบเห็น คือ มักจะใช้ในการเผยแพร่เพื่อการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะการโฆษณางานแสดงศิลปะ งานดนตรี ภาพยนตร์ การโฆษณาชวนเชื่อ หรือการสื่อสารต่อความเชื่อของคนส่วนใหญ่
นอกจากนั้นโปสเตอร์ยังใช้ในการพิมพ์ภาพจิตรกรรมของศิลปินคนสำคัญ หรือภาพถ่าย เพื่อใช้ในการตกแต่ง ซึ่งกลายเป็นศิลปะการค้าที่ทำรายได้ดีให้ทั้งพิพิธภัณฑ์ บริษัทการค้า หรือร้านทางอินเทอร์เน็ต เช่นภาพเขียนของ โคลด โมเนท์ หรือ เลโอนาร์โด ดา วินชี หรืองานของช่างภาพอเมริกัน โรเบิร์ต เมเปิลธอร์พ (Robert Mapplethorpe)
งานศิลปะการสร้างโปสเตอร์เริ่มเมื่อราวคริสต์ศตวรรษ 1890 โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศสและเผยแพร่ไปทั่วยุโรป ศิลปินคนสำคัญที่สุดที่ริเริ่มความนิยมในการสร้างโปสเตอร์ก็คือ อองรี เดอ ทูลูส-โลเทรค และ จูลส์ เชเรท์
เชเรท์ถือกันว่าเป็นบิดาแห่งการโฆษณาด้วยป้าย
คนส่วนใหญ่ที่สะสมโปสเตอร์ และโปสเตอร์ที่มีชื่อเสียง นักสะสมโปสเตอร์จะเก็บโปสเตอร์เก่าโดยมักจะใส่กรอบรูปและมีแผ่นรองหลังด้วย ขนาดโปสเตอร์ที่นิยมกันโดยทั่วไปอยู่ที่ 24x35 นิ้ว แต่โปสเตอร์ก็มีหลายขนาดหลากหลาย และโปสเตอร์ขนาดเล็กที่มีไว้โฆษณาจะเรียกว่า แฮนด์บิลล์ หรือ "ใบปลิว" (flyer)
ประเภทของโปสเตอร์
สามารถแบ่งประเภทโปสเตอร์ได้ดังนี้
1.โปสเตอร์นอกสถานที่ ได้แก่ โปสเตอร์ขนาดใหญ่เรียกว่าบิลบอร์ด (billboard)
2.โปสเตอร์ประเภทเคลื่อนที่ ได้แก่ โปสเตอร์ติดตามข้างรถเมล์ (bus-side), ท้ายรถเมล์ (bus-back) โปสเตอร์ติดบริเวณที่สาธารณะทั่วไป
3.โปสเตอร์ติดภายใน ได้แก่ โปสเตอร์ติดตามสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้า
4.โปสเตอร์ประเภท 3 มิติ เป็นลักษณะสื่อผสม อาจนำคนเข้ามาผสม เน้นสื่อเพื่อสาธารณะโดยตรง หรือบิลบอร์ดที่มีส่วนยื่นออกมาได้แก่
จุดประสงค์ของโปสเตอร์
โดยทั่วไปแล้วจะต้องแสดงหน้าที่และบทบาทต่อไปนี้คือ
1.นำสิ่งที่ผู้ต้องการโฆษณาออกมาเผยแพร่ให้โดดเด่นและสะดุดตา
2.สามารถสื่อสารและปลุกเร้าความสนใจของผู้พบเห็นได้
3.ต้องสามารถเล่าเรื่องราวจากภาพได้ เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นโปสเตอร์สามารถเข้าใจได้ในทันที แล้วเกิดการรับรู้และปลุกเร้าความสนใจต่อไป
4.ภาพในโปสเตอร์จะต้องมีลักษณะปลอดโปร่ง เน้นเฉพาะเรื่องที่จะโฆษณา ช่วยให้แลเห็นง่าย และที่สำคัญที่สุด คือ รายละเอียดและส่วนประกอบต่างๆ จะประสานกลมกลืนกันตามคุณค่าของศิลปะประยุกต์ (applied art) ด้วยเหตุนี้ ภาพโปสเตอร์จึงมิได้เป็นศิลปะในตัวของมันเอง
5.ต้องสะท้อนถึงเรื่องราวที่จะโฆษณาออกมาให้ได้ทั้งทางสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม เป็นต้น
ที่มา : อ.มนูญ ไชยสมบูรณ์