ออกแบบเมนูของร้านอาหาอย่างไร ? ให้รอดพ้น COVID-19
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ร้านอาหารต่างปรับตัวมาเปิดเดลิเวอรี เพื่อให้ยังอยู่รอดได้ ซึ่งการที่จะเปิดร้านเดลิเวอรี่ได้นั้น ทางร้านต้องคำนึงถึงการบริการจัดการร้านหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการต้นทุนวัตถุดิบ การบริหารพนักงาน หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนเมนู ให้เหมาะกับการเดลิเวอรี่มากยิ่งขึ้น แต่การออกแบบเมนูที่ดีนั้นทำอย่างไร
1) วางโครงสร้างเมนู (Menu Structure) ให้ชัดเจน
การวางโครงสร้างเมนู (Menu Structure) ควรจะสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของร้าน เช่น หากเป็นร้านอาหารฝรั่ง ควรแบ่งเมนูเป็นหมวดหมู่ตามประเภทของอาหารในคอร์ส เช่น ซุป สลัด อาหารจานหลัก (Main Course) และของหวาน เป็นต้น ซึ่งการวางโครงสร้างเมนูเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน จะทำให้ลูกค้าสามารถหารายการอาหารที่ต้องการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
2) เมนูอาหารในแต่ละหมวดหมู่ ไม่ควรเกิน 7 เมนู
หากเมนูอาหารในแต่ละหมวดหมู่มีจำนวนมากเกินไปจะทำให้ลูกค้ารู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าควรจะเลือกเมนูไหนดี ซึ่งในที่สุดมักจะสั่งแต่รายการเดิมๆ เสียโอกาสที่ลูกค้าจะทดลองเมนูอื่นๆของร้าน ดังนั้นเมนูอาหารในแต่ละหมวดหมู่ควรมีไม่เกิน 7 เมนู
3) ลองตั้งชื่อเมนูให้น่าสนใจมากขึ้น
ชื่อของแต่ละเมนูสามารถถูกตั้งให้แตกต่างเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ แต่ก็ไม่ควรตั้งชื่อที่ไม่สอดคล้องกับเมนูนั้นๆ เนื่องจากจะทำให้ลูกค้าไม่เข้าใจ และอาจไม่กล้าที่จะทดลองสั่งอาหาร ทั้งๆที่เป็นเมนูเด่นของทางร้าน
4) ควรมีคำอธิบายแต่ละเมนู
ควรมีคำอธิบายเมนูสั้นๆ เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพรวมของเมนูได้ชัดเจน รวมถึงควรบอกส่วนประกอบที่อาจทำให้เกิดอาหารแพ้ เช่น ถั่วลิสง, กุ้ง เพื่อให้ไม่เกิดอันตรายต่อลูกค้า
5) มีรูปภาพประกอบเมนู
รูปภาพประกอบเมนูเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้อย่างดี โดยรูปภาพควรจะใกล้เคียงกับอาหารจริงมากที่สุด ทั้งเรื่องหน้าตา และปริมาณจะต้องไม่แตกต่างจากที่ลูกค้าได้รับ เพราะอาจทำให้ลูกค้าเกิดไม่พอใจได้ โดยรูปภาพประกอบเมนูไม่จำเป็นต้องมีทุกรายการ แต่ควรเลือกรายการที่มีความโดดเด่น เช่น เมนูแนะนำ เมนูที่ขายดี ที่สำคัญคือไม่ควรมีรูปที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือรูปเมนูที่ไม่ได้ขายเพราะอาจจะทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน
6) ระบุราคาให้ชัดเจน
ทุกเมนูควรระบุราคาไว้อย่างชัดเจน โดยราคาที่ตั้งจะต้องสอดคล้องกับประเภทอาหาร คุณภาพ ปริมาณ และคอนเซ็ปต์ของร้าน หากตั้งราคาสูงเกินไปลูกค้าอาจรู้สึกว่าถูกโดนเอาเปรียบ ในทางกลับกับ หากตั้งราคาต่ำเกินไป อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่มั่นใจในคุณภาพของอาหาร
นอกจากนี้ ควรระบุให้ชัดเจน ว่าราคาที่ระบุ รวมภาษี (VAT) และค่าบริการแล้วหรือไม่ หรือว่าลูกค้าต้องชำระเพิ่มเติมในส่วนไหน เพื่อให้ลูกค้าไม่เกิดความเข้าใจผิดได้นั่นเอง
7) เลือกเมนูที่เหมาะกับการส่งเดลิเวอรี่
ไม่ใช่ทุกเมนูที่จะสามารถส่งเดลิเวอรี่ได้ บางเมนูอาจต้องรับประทานที่ร้านทันทีที่ปรุงเสร็จ ซึ่งการขนส่งอาจทำให้อาหารเสียรสชาติได้ ดังนั้นทางร้านควรเลือกเมนูที่เหมาะสมกับการทำเดลิเวอรี่จริงๆ เป็นเมนูที่ทานง่าย ไม่ยุ่งยาก
รวมถึงต้องเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งที่เหมาะสม เช่น ใช้กล่องใส่อาหารที่มีช่องแยกสำหรับใส่ข้าวและกับข้าว เพื่อให้ลูกค้ารับประทานได้สะดวก และไม่เสียรสชาติมากนัก
8) เพิ่มเรื่องราวของร้าน หรือเมนูให้ลูกค้าสนใจ
คุณสามารถเปลี่ยนเมนูให้เป็นสื่อในการโฆษณาร้านอาหารได้ ด้วยการเพิ่มประวัติความเป็นมาของร้าน หรือการเล่าถึงที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในร้าน
เช่น ร้านเราใช้ผักโดยไม่ใช้สารเคมีที่รับซื้อจากชาวบ้านในต่างจังหวัด หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับประเภท และคุณสมบัติของเนื้อวัวที่นำมาปรุงอาหารในร้าน เป็นต้น
ซึ่งการเพิ่มข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าได้เรียนรู้เกี่ยวกับร้านของคุณมากขึ้น เกิดความสนใจ ไว้วางใจในคุณภาพอาหาร ยังทำให้อยากลองรับประทานอาหารทุกรายการของคุณ แถมสามารถไปเล่าต่อเพื่อนๆ และคนรู้จักของพวกเขาอีกด้วย